Last updated: 11 ก.พ. 2566 | 946 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ พบว่ามลพิษ ก๊าซชนิดต่างๆ ตลอดจนละอองลอย อันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ล้วนแต่จะเป็นผลเสียต่อสภาพแวดล้อมของโลกทั้งสิ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ตลอดจนเกิดภาวะโลกร้อนเนื่องจากปรากฏการณ์เรือนกระจกมีผลทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่
ละอองลอย คือ อนุภาคขนาดเล็ก(ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง10–100 ไมโครเมตร) ที่แขวนลอยในอากาศอยู่ในสถานะของแข็งและสถานะของเหลว มีแหล่งกำเนิดมาจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติ เช่น เกิดจากภูเขาไฟ ไฟไหม้ป่า การกระเซ็นของละอองน้ำทะเล ฝุ่น ควัน การกัดเซาะผิวหน้าดินโดยลม เป็นต้น และแหล่งกำเนิดที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเผาไหม้ชีวมวล (เช่น ไม้ สิ่งปฏิกูล ใบไม้แห้ง) การไถพรวนดิน และการขุดดิน หยดน้ำและผลึกน้ำแข็งที่เกิดจากไอน้ำในบรรยากาศกลั่นตัวและแข็งตัวหรือควบแน่นเป็นเกล็ดน้ำแข็งก็อาจจัดเป็นละอองลอยเช่นกัน ดังภาพประกอบที่ 1
ละอองลอยส่วนใหญ่อยู่ในชั้นบรรยากาศล่างสุดชั้นโทรโพสเฟียร์(troposphere) แต่การระเบิดของภูเขาไฟอย่างรุนแรงสามารถผลักดันละอองลอยและแก๊สก่อละอองลอยเลยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงกว่าได้ (ชั้นสตราโทสเฟียร์) ละอองลอยจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere)ได้นานหลายปี ในขณะที่ละอองลอยในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์จะถูกกำจัดภายในเวลาไม่เกินสิบวันโดยหยาดน้ำฟ้าและปฏิสัมพันธ์กับพื้นผิวโลก
ที่มา : http://terra.nasa.gov/factsheet/aerosol.html.Accessed April 9,2007
ละอองลอยสามารถจำแนกได้เป็น
1. ฝุ่น อนุภาคของแข็งที่เกิดจากการระเบิดภูเขาไฟ
2. เขม่า เป็นอนุภาคที่หลงเหลือจากการเผ่าไม้ไม่สมบูรณ์ เป็นผลที่เหลืออยู่ของปฏิกิริยาการเผาไหม้คาร์บอน
3. ไอควัน เป็นของแข็งที่เกิดจากการเผ่าไหม้ หรือท่อไอเสียรถยนต์
4. หมอก ของเหลวที่เป็นละอองน้ำอยู่ในอากาศ
5. ฝุ่นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ละอองลอยสามารถจำแนกตามกระบวนการเกิดได้เป็น
ละอองลอยปฐมภูมิ (primary aerosol ) เป็นละอองลอยที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดไปยังชั้นบรรยากาศโดยตรง ไม่มีการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี
ละอองลอยทุติยภูมิ (secondary aerosol ) เป็นละอองลอยที่เกิดจากการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการจำแนกละอองละลอย
ธรรมชาติ (Natural) | กิจกรรมมนุษย์ (Anthropogenic) |
ปฐมภูมิ– แร่ (mineral aerosol) – เกลือทะเล (sea salt) – ฝุ่นจากภูเขาไฟ (volcanic dust) – ละอองลอยสารอินทรีย์ (organic aerosols) | ปฐมภูมิ– ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม (industrial dust) – เขม่า (soot) – การเผาไหม้ชีวมวล (biomass burning) |
ทุติยภูมิ– ซัลเฟตจากการเผาไหม้ชีวมวล (sulfates from biogenic gases) – ซัลเฟตจากภูเขาไฟ (sulfates from volcanic) | ทุติยภูมิ– ซัลเฟตจาก SO2 – ละอองลอยอินทรีย์ที่เกิดจาก VOCs – ไนเตรดจาก NOx |
ปริมาณความเข้มข้นของละอองลอยในบรรยากาศแปรผันกับพื้นที่และเวลาเป็นอย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงประเภทที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น พายุฝุ่นขนาดใหญ่ และภูเขาไฟระเบิด ละอองลอยสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย สามารถเคลื่อนที่ข้ามมหาสมุทร และเทือกเขาต่างๆ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ท้องฟ้าในหลายๆ พื้นที่บนโลกนี้ฝ้ามัวกว่าเมื่อหนึ่งร้อยหรือสองร้อยปีก่อนแม้แต่ท้องฟ้าในเขตชนบท
ละอองลอยมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศและภูมิอากาศ เพราะส่งผลต่อปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องมาถึงพื้นผิวโลก ละอองลอยจากการระเบิดของภูเขาไฟที่อยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์สามารถเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวโลกเป็นเวลาหลายปีสืบเนื่องจากการระเบิดแต่ละครั้ง การเผาไหม้ชีวมวลเป็นสาเหตุทำให้ความเข้มข้นของละอองลอยในท้องฟ้าท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาค เมื่อนำมารวมกับการตรวจวัดบรรยากาศอื่นๆ การตรวจวัดละอองลอยช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น และยังจะนำไปสู่การเพิ่มความเข้าใจปรากฏการณ์ทางเคมีของบรรยากาศอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผลต่อสุขภาพ กล่าวคือ อนุภาคมีขนาดเล็กจะสามารถผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินหายใจเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของสารพิษที่ไปสะสมอยู่ในหลอดลม ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ หรือถ้าเป็นสารพิษอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด
11 ก.พ. 2566